แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กลับเข้าสู่การฝึกซ้อมช่วงปรีซีซั่นอีกครั้งในสัปดาห์นี้ หลังจากพักเบรกช่วงสั้น ๆ
ตามหลังจบศึก สโมสรโลก (Club World Cup) โดยสถานการณ์ในครั้งนี้ถือว่าไม่ปกติ
เมื่อทั้งทีมและนักเตะกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านสภาพร่างกายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
แม้ว่า “เรือใบสีฟ้า” จะตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายจากการแข่งขันดังกล่าว แต่การลงเตะถึง 4 นัดในทัวร์ที่สหรัฐอเมริกา
รวมถึงการไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะต้องอยู่นานแค่ไหน ส่งผลให้ตารางการพักร้อนและการเตรียมทีมก่อนเปิดฤดูกาลถูกบีบให้สั้นลงอย่างมาก
นักเตะของซิตี้ได้พักเพียง 3 สัปดาห์หลังพ่าย อัล ฮิลาล และต้องกลับมาฟิตร่างกายภายใน 3 สัปดาห์
ก่อนเปิดฤดูกาลพรีเมียร์ลีกพบกับ วูล์ฟแฮมป์ตัน ในเดือนหน้า ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สั้นกว่าปกติ
ฤดูกาลข้างหน้าก็ยังถูกคาดหมายว่าจะยาวนานและหนักหน่วงไม่แพ้เดิม หลายคนอาจลงสนามมากกว่า 60 นัดให้ต้นสังกัด
ก่อนต่อเนื่องไปยังศึก ฟุตบอลโลก 2026 ที่จะจัดขึ้นในอเมริกา ซึ่งนั่นยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของอาการล้าและอาการบาดเจ็บสะสม
เมื่อปีที่แล้ว โรดรี้ เคยเอ่ยถึงความเป็นไปได้ที่นักเตะอาจต้อง “ประท้วง” ด้วยการหยุดเล่นเพราะถูกใช้งานหนักเกินไป
ขณะที่ ฟิล โฟเด้น ก็เปิดใจกับ Manchester Evening News ว่ารู้สึกเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ
ส่วน มานูเอล อาคานยี่ ก็เคยบอกว่าอาจต้องรีไทร์ตอนอายุ 30 เพราะโปรแกรมแข่งที่อัดแน่น
เคร็ก ลีอา นักกายภาพบำบัดจาก The Physio Lounge ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานทั้งในลีกฟุตบอลและรักบี้
เชื่อว่าแม้ซิตี้จะเป็นสโมสรที่มีระบบดีแค่ไหน แต่การขาดช่วงปรีซีซั่นจะเป็นความท้าทายใหญ่แน่นอน
“ช่วงปรีซีซั่นเป็นช่วงเดียวในปีที่นักเตะไม่รู้สึกปวดเมื่อยหรือเจ็บตัว มันคือเวลาพักฟื้นทั้งร่างกายและจิตใจ” ลีอา กล่าว
“การมีช่วงเวลาพักแค่ไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะลงเตะเต็มฤดูกาล ถือเป็นช่วงเวลาที่น้อยเกินไป”
นอกจากนี้ ลีอายังระบุว่า การเตรียมร่างกายที่ไม่สมบูรณ์อาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บเล็ก ๆ ที่ส่งผลยาวนาน และที่สำคัญคือ
ซิตี้จะมีเวลาน้อยในการเก็บข้อมูลฟิตเนสของผู้เล่น โดยเฉพาะบรรดานักเตะใหม่ ที่ยังไม่มีข้อมูลย้อนหลังสำหรับใช้วางแผนฟื้นฟูหรือประเมินความเสี่ยง
อีกหนึ่งความกังวลคือ นักเตะบางคนอาจเลือก “ฝืนเล่น” แม้ไม่เต็มร้อย เพียงเพื่อสร้างความประทับใจต่อทีมสตาฟฟ์
ซึ่งผลกระทบอาจไม่เห็นในทันที แต่จะค่อย ๆ สะสมตลอดฤดูกาล
“มันจะสะสมไปเรื่อย ๆ จนเริ่มแสดงออกชัดในช่วงหลังของซีซั่น” ลีอากล่าวเสริม
“แน่นอนว่าซิตี้จะมีมาตรการวัดความฟิตนักเตะอย่างละเอียด และพยายามหาโอกาสให้ได้พักในช่วงที่ไม่มีแมตช์กลางสัปดาห์ หรือเกมที่เตะวันจันทร์”
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อดีอยู่บ้างจากการที่ทีมได้แข่งขันในระดับสูงตั้งแต่ช่วงพรีซีซั่น ทำให้ความเข้าขาในทีมดีขึ้น
และอาจเป็นการเตรียมระบบทีมไปในตัว แต่ทางด้านร่างกายและจิตใจ ก็ยังมีข้อกังวลว่าผู้เล่นบางรายอาจเกิดอาการ “หมดไฟ” ก่อนถึงช่วงท้ายฤดูกาล